• BLOG

    ห้องที่เป็นความประทับใจแรก ให้กับแขกที่มาเยือน ห้องที่ให้คุณได้ผ่อนคลาย เติมเต็มพลังในชีวิตให้คุณได้

    BLOG

    ห้องที่เป็นความประทับใจแรก ให้กับแขกที่มาเยือน ห้องที่ให้คุณได้ผ่อนคลาย เติมเต็มพลังในชีวิตให้คุณได้

    ห้องที่เป็นความประทับใจแรก ให้กับแขกที่มาเยือน ห้องที่ให้คุณได้ผ่อนคลาย เติมเต็มพลังในชีวิตให้คุณได้เต็มที่จากความเหนื่อยล้าของการทำงานในแต่ละวัน คือห้องนั่งเล่น (Living Room) ห้องนั่งเล่นสวยๆ มีโซฟานุ่มสบาย มีบรรยากาศห้องที่ผ่อนคลาย และแวดล้อมไปด้วยข้าวของที่คุณรักในสไตล์ที่คุณหลงใหล หลายๆ คนจึงชอบที่จะตกแต่งห้องนั่งเล่นเป็นอย่างมาก

    หากคุณคือคนที่อยากแต่งห้องนั่งเล่นให้ออกมาลงตัว สะท้อนสไตล์ที่เป็นตัวตน ลองมาดูสไตล์ห้องนั่งเล่นที่คัดสรรมาแนะนำ เป็นแรงบันดาลใจในการตกแต่งห้องนั่งเล่นสวยๆ ของคุณได้อย่างง่ายดาย

    1.TRADITIONAL LIVING ROOM

    ไม่ว่าอย่างไร สไตล์นี้ก็ไม่เคยล้าหลัง สวยงาม และให้บรรยากาศ “ห้องนั่งเล่น” ที่ผ่อนคลายจริงๆ ออกแบบมาจากความต้องการห้องนั่งเล่นในอุดมคติ คือ “ความผ่อนคลาย” และ “ความเรียบง่าย” โซฟาเซ็ตที่มีดีไซน์ดูสบายไม่เน้นดีไซน์แปลกตา และที่สำคัญต้องนั่งได้สบายด้วย ขอบและเส้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือโครงห้องจะต้องไม่ดูแข็ง หรือโดดออกมาโทนสีและแสงในห้องจะเป็นโทนอบอุ่นหรือโทนที่สบายตา ไม่ฉูดฉาด ความโค้ง เว้า ไม่ว่าจะเป็นเส้นหรือรูปร่างจะช่วยให้ภาพรวมดูลื่นไหล ลดความตึงเครียด ความกลมกลืนกันของเฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ และตัวห้อง

    2.CONTEMPORARY LIVING ROOM

    Contemporary หรือ “ร่วมสมัย” มีลักษณะของความ “ทันสมัย” หรือ “Modern” อยู่ด้วย โดยสไตล์ร่วมสมัยจะถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ในแต่ละยุคสมัย ดังนั้น หากคนยุคนี้นิยมสไตล์งานโมเดิร์น การตกแต่งห้องนั่งเล่นสวยๆ ในสไตล์ร่วมสมัยจึงมีความคล้ายคลึงกัน

    องค์ประกอบแบบไหนบ้างที่จะให้ความรู้สึกแบบห้องนั่งเล่นสไตล์ Contemporary ขอบ เส้น และรูปร่างเกลี้ยงๆ สะอาดตาโซฟาและเฟอร์นิเจอร์ที่ดูอบอุ่น ผ่อนคลาย มีพื้นที่เปิดโล่ง (Open space) ให้อากาศหรือแสงธรรมชาติเข้า อาจตกแต่งห้องโดยการผสมผสานดีไซน์โมเดิร์นและรายละเอียดความ Classic ความไม่สมบูรณ์ เช่น ลายไม้ ลายหิน และที่สำคัญอย่าลืมหาพื้นที่เปิดโล่ง หากไม่สะดวกอาจเลือกใช้หน้าต่างกระจกก็ได้ ทั้งนี้ อย่าลืมพิจารณาหาโซฟานุ่มๆ เลือกใช้สีสันและดีไซน์ที่เก๋ไก๋ แต่กลมกลืน

    3.MEDITERRANEAN LIVING ROOM

    สไตล์ที่โดดเด่นมากๆ ให้อารมณ์ “Exotic” รู้สึกเหมือนอยู่ต่างประเทศ ด้วยการออกแบบมาเพื่อสอดรับกับลักษณะเด่นและความงดงามของหาดและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

    ห้องนั่งเล่นสไตล์นี้ จะเปิดโล่ง ใช้ประตู-หน้าต่างบานที่ค่อนข้างใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อเปิดรับลมทะเลและเพื่อให้มองเห็นแสงแดด วิวชายหาด หรือมหาสมุทร หากอยากเนรมิตห้องนั่งเล่นของคุณให้มีบรรยากาศแบบนั้น ลองพิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้

    - ประตูหน้าต่างกว้างๆ โล่งๆ หันหน้าสู่วิวกว้างๆ

    - โทนสีสว่างผสมผสานกับเอิร์ธโทน

    - พื้นกระเบื้องดินเผา

    - ฟอร์นิเจอร์ไม้ คานไม้ ขอบประตูไม้

    -ต้นไม้ประดับสไตล์โทปิคอล

    หากบ้านของคุณอยู่นอกเมือง อยู่ใกล้ภูเขา หันหน้าสู่ท้องทุ่ง หรือพื้นที่โล่งๆ คุณสามารถจัดห้องนั่งเล่นของคุณให้สวย น่าอยู่ในสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนได้แน่นอน แต่หากบ้านของคุณอยู่ในเมือง กระจก หน้าต่าง และพื้นที่เปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามา จะช่วยสร้างบรรยากาศแบบชายทะเลได้เช่นกัน

    4.COTTAGE LIVING ROOM

    สไตล์ที่หลายคนมักมีภาพจำของบ้านสไตล์คันทรี หรือคาบิน (Cabin) ที่ให้โทนสีน้ำตาลจากไม้และหินที่เอามาตกแต่ง และเตาผิงไฟ แต่จริงๆ แล้ว หลักในการตกแต่งห้องนั่งเล่นสไตล์คอทเทจนั้น จะเน้นที่ความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย และอบอุ่นเป็นมิตร (Personal Touch)

    ตกแต่งห้องนั่งเล่นด้วยโทนสีอ่อน สบายตา ปล่อยให้มีแสงธรรมชาติเข้ามาได้มาก เลือกโซฟาที่มีดีไซน์เรียบง่าย และนุ่มสบาย ควบคุมองค์ประกอบไม่ให้เยอะเกินไปใช้เฟอร์นิเจอร์หรือตกแต่งด้วยของทำมือ ไม่เฟอร์เฟ็ค แล้วใช้ไม้คือวัสดุที่ช่วยสร้างความรู้สึกที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย

    Kitchen Design ห้องครัวมีดีไซน์ พร้อมใช้งานได้จริง

    เครดิตเนื้อหา : บ้านไอเดีย


    ทำครัวไทยในบ้าน ใส่ดีไซน์ที่มาพร้อมการใช้งานเต็มรูปแบบ

    ครัวสมัยก่อน เราก็มักจะเห็นคุณแม่ยืนทำอาหารอยู่หน้าเตาแบบเหงา ๆ ภายในครัวไทยที่แยกไว้หลังบ้าน ซึ่งทำให้คนทำครัวแทบไม่มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่อื่น ๆ ในบ้านเลย แต่ในระยะหลังการออกแบบสถาปัตยกรรมบ้านเราได้รับอิทธิพลจากตะวันตก นิยมจัดพื้นที่ครัวไว้ภายในบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการจัดสรรที่มักออกแบบครัวเบามาให้เลย แน่นอนว่าเจ้าของบ้านจะได้ห้องครัวสวยดูทันสมัยและใช้พื้นที่ร่วมกับส่วนอื่น ๆ ของบ้านได้ แต่ความงามที่แถมมาอาจไม่ตอบโจทย์การใช้งาน เพราะวัสดุสร้างครัวส่วนใหญ่เป็นไม้ MDF หรือไม้ Partical Board ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้งานจริงของคนไทยที่ต้องทำอาหารตำ โขลก ลาบ ครัวจะต้องแข็งแรงรองรับงานหนักได้

    เคล็ดลับการจัดครัวไทยในบ้าน

    1.เลือกตำแหน่งทิศห้องครัวให้รับแสง

    บ้านที่ไม่ได้ออกแบบตำแหน่งครัวให้เหมาะสมตั้งแต่แรก อาจจะพบปัญหาครัวมืด ชื้น หรือร้อนเกินไปการวางตำแหน่งครัวให้สัมพันธ์กับทิศทางแสง จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบ ครัวที่ดีต้องอยู่ในทิศที่มีเเสงสว่างส่องเข้าถึงได้ เพื่อช่วยไล่ความอับชื้นและฆ่าเชื้อโรค  สำหรับเมืองไทยตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับครัวคือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือหรือตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่สามารถรับแสงและลมได้พอเหมาะ ในด้านฮวงจุ้ยมักจะแนะนำให้วางห้องครัวอยู่ในด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ เพราะทางทิศตะวันออกจะได้รับเเสงแดดตั้งเเต่เช้าถึงเที่ยง เวลาทำกับข้าวช่วงเย็นจะไม่ร้อน ส่วนทิศใต้เป็นทิศที่มีลมพัดผ่านได้ตลอดวัน ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี

    2. มีช่องทางระบายอากาศ

    ครัวบางบ้านอยู่ในตำแหน่งอับ ไม่มีช่องทางระบายอากาศ  ในขณะที่เวลาปรุงอาหารไทยต้องใช้เครื่องเทศปรุงแกง คั่ว ผัด ทำให้เกิดกลิ่นฉุนและควันอบอวลรบกวนการใช้ชีวิต จึงควรมีช่องลมให้ระบายอากาศ ระบายกลิ่นที่เหมาะสม เช่น หน้าต่าง เครื่องดูดควันเหนือเตา พัดลมระบายอากาศ ที่จะช่วยดึงควันและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกไปแล้วเพิ่มการหมุนเวียนของอากาศในครัว พัดลมระบายอากาศที่เหมาะกับครัวไทยควรหมุนด้วยความเร็วรอบตั้งแต่ 1,500 รอบต่อนาทีขึ้นไป  ติดตั้งตรงด้านที่รับการไหลเข้าของอากาศในห้องหรือตรงกับช่องลม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการระบายอากาศดียิ่งขึ้น

    3. พื้นที่เตรียมอาหารและสัดส่วนเหมาะสม

    บ้านที่ทำอาหารทานเองเป็นหลักในแต่ละมื้อจะทำหลายเมนูพร้อม ๆ กัน หากเคาน์เตอร์ครัวเล็ก มีที่ว่างไม่พอสำหรับเตรียมอาหารคงไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง การออกแบบชุดห้องครัวจึงต้องกำหนดขนาด ความสูง ระยะห่าง ที่เหมาะสมตามการใช้งาน พื้นที่ห้องและหลักสรีรศาสตร์ เช่น ทอปเคาน์เตอร์ปกติจะสูงจากพื้นประมาณ 80-90 ซม. ความลึกเคาน์เตอร์ประมาณ 55-65 ซม.  ส่วนความยาวจะขึ้นอยู่กับการใช้งาน หากทำอาหารครั้งละมาก ๆ ก็เพิ่มความยาวให้วางของได้มาก สำหรับไอส์แลนด์เตรียมอาหารและเคาน์เตอร์ครัวควรอยู่ห่างกันประมาณ 80 – 100 ซม. เพื่อให้พอดีกับจังหวะการหมุนตัวและมีระยะห่างเมื่อใช้งานพร้อมกันหลายคน สัดส่วนทั้งหมดที่ว่ามาสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงให้เหมาะกับความสะดวกในการหมุนตัว ก้ม เอื้อม ตามสรีระของผู้ที่ใช้งานเป็นหลัก


    4. เลือกวัสดุที่ดูแลง่าย

    วัสดุโซนห้องครัวทั้งพื้น ผนัง เคาน์เตอร์ ควรเป็นวัสดุเคลือบผิวมีลักษณะมันวาวและไม่ดูดซับความชื้น

    วัสดุที่ควรเลี่ยงใช้ อาทิ ผนังปูนเปลือย, ผนังอิฐ, วอลเปเปอร์ที่ไม่มีการเคลือบผิว แนะนำให้ใช้วัสดุประเภทเซรามิก สแตนเลส หินอ่อน กระจก หรือวัสดุใด ๆ ที่เช็ดถูทำความสะอาดได้ง่าย โดยเฉพาะตำแหน่งวางกะทะ ควรมีผนังกันเปื้อน (Backsplash) และบริเวณรอบ ๆ ควรออกแบบให้มีพื้นที่กว้างไม่มีสิ่งของวางกีดขวาง หากเกิดคราบสกปรกจะสามารถเช็ดถูได้โดยสะดวกครับ


    5.เคาน์เตอร์แข็งแรงรองรับงานหนัก

    เคาน์เตอร์เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องใช้ทำอาหารเป็นประจำทุกวัน หากออกแบบไม่แข็งแรงใช้งานไม่ถึงปีอาจจะมีพัง โดยเฉพาะครัวไทยที่ต้องใช้วางเขียง ครก กระทะ เพื่อทำอาหารที่ต้องโขลก ๆ สับ ๆ ได้เต็มรูปแบบ เคาน์เตอร์จึงต้องมีคุณสมบัติรองรับน้ำหนักได้มากและรับแรงกระแทกได้ดี จึงไม่เหมาะกับครัวสำเร็จรูปที่ทำเคาน์เตอร์ด้วยไม้ MDF หรือไม้ Partcle Board


    เคาน์เตอร์ครัวที่เหมาะสำหรับทำอาหารไทย ควรเลือกเป็นครัวปูน ช่างจะทำการก่ออิฐเพื่อทำฐานเคาน์เตอร์ขึ้นมา ส่วนทอปเคาน์เตอร์เป็นลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก วิธีดังกล่าวจะเหมาสมกับการทำตั้งแต่กระบวนการสร้างบ้าน เป็นครัวที่ช่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังแข็งแรงและเหมาะกับอาหารคาวหวานแบบไทย ๆ ด้วย